วันอังคารที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

การพัฒนาครูสู่ครูมืออาชีพ

บทความดี

การพัฒนาครูอาจารย์ก็เหมือนการพัฒนาประเทศ พัฒนาโลก หากครูซึ่งเป็นผู้ประสาทวิชาขาดแนวทางในการพัฒนาตนแล้ว คงจะไม่สามารถพัฒนาคำสอนหรือบทเรียนให้ทันตามโลกที่เปลี่ยนแปลงได้ ลองอ่านกันดูนะครับ
1. ครูจะมีการเตรียมตัวก่อนเข้าสอน เช่นวางขั้นตอนในการสอนว่าจะเริ่มสอนอะไรก่อน - หลัง และตามด้วยอะไรเป็นลำดับขั้นไว้ล่วงหน้า
2. ในการสอนไม่ควรปล่อยเวลาว่างให้มากหรือน้อยเกินไป เพราะนักเรียนจะเล่น และคุยกัน ควรวางลำดับขั้นตอนการสอนให้ต่อเนื่อง
3. ควรสบตากับนักเรียน และมั่นใจในขณะสอนและคิดไว้เสมอว่านักเรียนไม่รู้เท่าเรา (หากเรามีการเตรียมตัว เราจะมีความมั่นใจ)
4. เมื่อนักเรียนคุย ควรติติงว่าอย่าคุยให้ตั้งใจเรียน (การเรียกชื่อติติงจะแสดงถึงความเอาใจใส่นักเรียนทำให้นักเรียนสนใจมากขึ้น)
5. พยายามรักและมีความยุติธรรมต่อเด็กและให้โอกาสแสดงออกเสมอกัน
6. ชมเชยเมื่อนักเรียนทำงานถูกต้องหรือทำความดี
7. ทำโทษเด็กเมื่อนักเรียนทำผิด ถ้าไม่ผิดอย่าลงโทษเด็ดขาด
8. ควรเก็บอารมณ์ หรือความรู้สึกส่วนตัวที่มีต่อนักเรียนไว้ไม่ให้ปะปนกับเรื่องการเรียน
9. เรียกถามตอบบ้างให้เขาได้พูดหรือแสดงออกบ้างโดยวิธีต่างๆ เขาจะไม่เบื่อและสนุกสนานในการเรียน
10. เอาใจใส่นักเรียนให้สม่ำเสมอ ไม่ถือตัว ไม่รังเกียจเขา
11. ควรคำนึงถึงความสามารถในการเรียน และเวลาที่เขาจะเรียนได้ เด็กแต่ละช่วงอายุมีความสามารถในการสนใจเรียนเท่าใด เช่นเด็ก ป.1 – ป.3 ไม่เกิน 20 นาทีติดต่อกัน
12. รักและเอ็นดูเขาไม่ใช้คำด่าทอที่รุนแรง ดูถูก เหยียดหยาม
13. นักเรียนบางคนมีปมด้อย หรือมีปัญหาครอบครัว ก็ให้เป็นกันเองกับเขาเห็นใจและสงสารเขาอย่ารังเกียจซ้ำเติม
14. อย่าลำเอียงและให้ความใส่ใจนักเรียนที่เรียนอ่อนบ้าง เขาจะไม่เกเรหรือก้าวร้าว
15. มอบสิ่งเล็กๆน้อยๆแก่นักเรียนที่ยากจนขัดสน เช่นให้ดินสอ ยางลบ ฯลฯ หรือขนมบ้างพอสมควร
16. ให้สัมผัสที่อบอุ่น และจริงใจ เช่นแตะแขน แตะไหล่ เพื่อเป็นการปลอบใจในเวลาที่เหมาะสม
17. ครูต้องแม่นในเนื้อหา อย่าแก้ปัญหาโดยพูดมั่วๆ
18. ในเวลา 1 คาบไม่ควรใส่เนื้อหาสาระมากมายนักเรียนจะไม่ได้อะไรเพราะจำไม่ไหวเกิดอาการล้าควรใส่เนื้อหาให้เหมาะสม จะง่ายในการจดจำ
19. ปล่อยให้เขาได้เป็นอิสระสบายๆ บ้าง ไม่เข้มงวดกวดขันจนเกินไป
20. พูดจาให้สุภาพอ่อนโยน ควรมีเมตตา และถามไถ่ เรื่องส่วนตัวเขาบ้างตามสมควร
21. อย่าเอาเรื่องปมด้อยเด็กมาพูดเป็นเรื่องสนุก และไม่ดูถูก ควรให้กำลังใจ
22. หากเด็กเจ็บป่วย ควรให้ความสนใจ สงสารและดูแลเขา หากอาการหนักควรเป็นธุระแจ้งผู้ปกครอง หรือพาไปส่งโรงพยาบาล
23. สอนให้นักเรียนรู้จักหน้าที่มีคุณธรรม และจริยธรรม
24. สอนให้เขาเห็นความสำคัญของการศึกษาในการอ่านออกเขียนได้คิดเลขเป็น
25. สอนให้รัก และมีความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ โดยเฉพาะ พ่อ-แม่
26. สอนให้รักบ้านเกิดเมืองนอน ประเทศชาติ และเคารพรักสถาบันพระมหากษัตริย์
27. ปลูกฝังค่านิยมไทย โดยครูเป็นตัวอย่าง เช่นทักทายกันด้วยการไหว้
28. ครูเป็นตัวอย่างในการแต่งกาย ควรแต่งกายให้เหมาะสม และรู้จักการออมประหยัด
29. สอนให้ความรู้โดยไม่ปิดบัง
30. ให้เวลาพักบ้าง ถ้าเรียน 2 ชั่วโมงต่อกัน เมื่อนักเรียนหนักสมอง
31. เมื่อเข้าสอนควรถามนักเรียนก่อนว่า เมื่อชั่วโมงที่แล้วนักเรียนเรียนวิชาอะไรครูให้ทำอะไร เช่นครูให้คัดไทย ในชั่วโมงเราก็หลีกเลี่ยงการให้คัดเขียนมาก
32. เห็นคุณค่าของเขาว่าถ้าไม่มีพวกเขาเราจะทำอะไรกิน เขาเป็นมันสมองของชาติ (เด็กฉลาดชาติเจริญ)
33. ยามเราทุกข์ เครียด เขาช่วยเราได้เมื่อได้ใกล้ชิด เพราะเขาน่ารักบริสุทธิ์และจริงใจ
34. เขาเป็นแขนขาให้เราได้ยามเราเหน็ดเหนื่อย เขาช่วยหยิบจับรับใช้และบางครั้งก็แนะนำอะไรๆ กับเราได้
35. ให้อภัยเขาหากเขาก้าวร้าวล่วงเกินเรา
36. ลืมปัญหาหรือความไม่สบายใจของเราไว้ก่อน เมื่อเข้าสอน
37. อาจเล่าปัญหาของเราให้นักเรียนฟังบ้าง เขาก็จะเข้าใจเรา เราก็จะสบายใจเช่นเราอาจเล่าให้นักเรียนฟังว่า
"นักเรียนเนี่ย เมื่อวานนี้ลูกครูโดดเรียนไม่เข้าเรียน ความประพฤติแย่ลงทุกวัน ครูละกลุ้มใจจังเลย หนูอย่าเอาอย่างนะ พ่อ-แม่ จะกลุ้มใจนะลูก" พูดคุยยิ้มแย้ม พูดเล่นกับเขาบ้าง
38. สังเกต ทดสอบความรู้พื้นฐานของนักเรียน แล้วจึงจัดเตรียมการสอนให้นักเรียนรับได้เรียนรู้เรื่องเมื่อเราประจักษ์ เช่นนี้แล้ว แล้วลองปฏิบัติดูเราจะเป็นครูมืออาชีพได้

โดย ครูสุริยา แก้วลาย โรงเรียนวัดบ้านพร้าวใน อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี


Credit : http://happyhappiness.monkiezgrove.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น